[x]เธ›เธดเธ”เธซเธ™เน‰เธฒเธ•เนˆเธฒเธ‡
Powered by โรงเรียนเรียงราษฏร์อุปถัมภ์

สถิติการเข้าเยี่ยมชม

ประวัติความเป็นมา

             โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดนราธิวาส กองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 ในพื้นที่ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส  พื้นที่ที่ตั้งของโรงเรียนได้รับการโอนมาจากโรงเรียนบ้านสุเป๊ะ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา  จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น  50  ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านตำบลเรียง ที่ได้สละเงินครัวเรือนละ 30 บาท  และสละแรงงานเพื่อการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 1 หลัง เปิดทำการสอนวันแรกในวันที่  8  พฤษภาคม 2523  มีนักเรียนเข้ามาเรียนจำนวน   24  คน โดยมี นายสมชาย แสงสุวรรณ  ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนตันหยงมัส เป็นครูใหญ่ บุคลากรประกอบด้วย    ครู  3  คน และนักการภารโรงจำนวน  1 คน ต่อมาได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมสามัญศึกษา  ในการจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นอีก         1  หลัง  บ้านพักครู โต๊ะ เก้าอี้ และห้องส้วมจำนวน  1  หลัง

             ปีการศึกษา  2525  มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 คน รวมนักเรียนทั้งสิ้น 37 คน  จากการที่มีจำนวนนักเรียนน้อย ทางกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจึงมีหนังสือเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขอให้ยุบโรงเรียนแต่ท่านไม่เห็นด้วย  จึงได้ดำเนินการสอนตามปกติและจัดสรรบ้านพักนักการภารโรง 1 หลัง  ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2525  กรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งย้าย     นายสมชาย แสงสุวรรณ ไปช่วยราชการที่โรงเรียนนราธิวาส  และได้แต่งตั้งให้นายมะนุง  แลโซะ  อาจารย์ 1 โรงเรียนนราธิวาส         มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์   และโรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดสร้างอาคารเรียนถาวรแบบ 208  จำนวน 1 หลัง  บ้านพักครู  1  หลัง

             ปีการศึกษา  2527  นายมะนุง  แลโซะ ครูใหญ่รับการโอนตำแหน่งราชการไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย  จึงได้แต่งตั้งนายไพรัช  แสงทอง อาจารย์  1 โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์  ปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่  และโรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนปรับปรุงขนาดเล็ก

             ปีการศึกษา  2533  โรงเรียนได้เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม (มพชส.)  และจัดทำเรือนเพาะชำกล้วยไม้ขึ้นตามโครงการ มพชส.

             ปีการศึกษา   2534  ได้เข้าร่วมโครงการขยายโอกาสโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น  กรมสามัญศึกษา (ค.อมต.สศ.) และในวันที่ 20 พฤษภาคม 2534   กรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งย้าย นายไพรัช  แสงทอง   อาจารย์ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส 

และมีคำสั่งแต่งตั้ง  นายสนอง รามวงศ์   อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาเจาะ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ แทน

             ปีการศึกษา   2535  ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อรถบัสจำนวน  1  คัน เพื่อรับ – ส่งนักเรียน  ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันเป็นเงิน 10,000 บาท  เพื่อจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน  และได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนเป็นจำนวน 70,000   บาท  เพื่อให้นักเรียนยืมไปประกอบอาชีพหารายได้ระหว่างเรียน

             ปีการศึกษา  2536  ได้เข้าโครงการโรงเรียนเพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม (รพชส.) และผู้บริหารโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บริหารโรงเรียนดีเด่นในถิ่นทุรกันดาร ได้รับโล่จากมูลนิธิผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ม.บ.ม.ท.)

             ปีการศึกษา   2537  ได้รับงบประมาณในการสร้างบ้านพักนักการภารโรง 1 หลัง

             ปีการศึกษา   2538  ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์การสอนในหมวด

วิชาคหกรรม และหมวดวิชาการงานอาชีพ  และกรมประมงได้จัดสรรงบประมาณในการขุดบ่อเลี้ยงปลา

จำนวน  1  บ่อ

             ปีการศึกษา  2539  ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียน แบบ 108 ล  จำนวน  1 หลัง   ได้เข้าโครงการการปฏิรูปการศึกษา และได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์หมวดวิชาต่างๆ  เป็นเงิน   499,900  บาท

             ปีการศึกษา   2540   ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสถานที่จำนวน   400,000   บาท

             ปีการศึกษา  2541   ได้เปิดทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  โดยเปิดสอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นปีแรก  โปรแกรมคณิตศาสตร์ – ภาษาอังกฤษ   มีนักเรียนจำนวน 13  คน   ชาย 8 คน หญิง 5 คน

             ปีการศึกษา   2542   ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการ อพป. เพื่อเปิดทำการสอนวิชาชีพอาชีพให้กับชาวบ้าน  โดยเปิดสอนวิชาช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นอย่างดี  ในวันที่ 1 ตุลาคม 2542   นายสนอง รามวงศ์ อาจารย์ใหญ่  ได้เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ทางกรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งแต่งตั้ง  นายบวรศักดิ์  มเหสักขะกุล  ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนนราสิกขาลัย มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์

             ปีการศึกษา  2543  ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการ อพป. โดยเปิดสอนช่างตัดเย็บเสื้อผ้าและวิชาอาหาร  ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เป็นเงิน   268,000   บาท  ได้รับงบประมาณค่าสอนวิชาศาสนาอิสลามเพิ่มเติม  และกรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งโยกย้าย นายบวรศักดิ์  มเหสักขะกุล  อาจารย์ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนไม้แก่นกิตติวิทย์  จังหวัดปัตตานี  และแต่งตั้ง นายเจ๊ะอับดุลเลาะ โตะแอ   อาจารย์ใหญ่สะนอพิทยาคม    มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์

             ปีการศึกษา  2544  ได้รับเงินสนับสนุนโครงการ อพป. ได้ทำการเปิดสอนวิชาอาหารและโครงการเลี้ยงเป็ด  ในปีนี้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 68 คน และมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 23 คน นับเป็นปีที่มีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนมากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียน

             ปีการศึกษา  2547   ได้มีคำสั่งโยกย้าย นายเจ๊ะอับดุลเลาะ  โต๊ะแอ อาจารย์ ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนไม้แก่นกิตติวิทย์  จังหวัดปัตตานี  และแต่งตั้ง นายจำนงค์  แสงหวัง รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์   จนกระทั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต  1  ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง  นางสาวจันทนา จินะราช  มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์

             ปีการศึกษา  2548   ได้มีคำสั่งโยกย้าย นางสาวจันทนา  จินะราช  ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย  และได้แต่งตั้ง นายสัมพันธ์  นิบือซา  ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนนราธิวาส  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต  1  มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์  ในปีนี้โรงเรียนได้เข้าโครงการโรงเรียนสองระบบ(สองหลักสูตร)

             ปีการศึกษา 2549  โรงเรียนได้เข้าอยู่ในโครงการห้องสมุดมีชีวิต ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1  และ มีคำสั่งแต่งตั้ง นายนรินทร์  อูเซ็ง  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไอร์โซ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต  2   มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์

             ปีการศึกษา  2550  โรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ในการเสด็จทรงเยี่ยมโรงเรียน โดยเข้าชมการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์  ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์  ห้องอนามัยโรงเรียน  ห้องสหกรณ์ และห้องสมุดของโรงเรียน  นอกจากนี้ทรงปลูกต้นมังคุดพระราชทานแด่โรงเรียน จำนวน  1  ต้น  อันนำมาซึ่งความปลาบปลื้มสู่คณะครูและนักเรียนในโรงเรียน ตลอดจนชุมชนในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ในปีนี้ โรงเรียนได้เข้าโครงการต่างๆ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 ทั้งโครงการต่อเนื่อง เช่น  โครงการห้องสมุดมีชีวิต  โครงการครอบครัวอุปถัมภ์  โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  โครงการสร้างรั้วโรงเรียน

             ปีการศึกษา 2551 สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทรงเยี่ยมโรงเรียนในปีที่ผ่านมา และได้ทรงปลูกต้นมังคุดพระราชทานแด่โรงเรียน จำนวน 1 ต้น ทางโรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำสวนมังคุดขึ้น โดยคณะครูและนักเรียนร่วมกันปลูกต้นมังคุดคนละ 1 ต้น  นอกจากนี้ในปีนี้ โรงเรียนได้เข้าโครงการต่างๆ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่  เช่น โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย  โครงการครอบครัวอุปถัมภ์  เป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาเครือข่ายสหพัฒนา ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมดในเครือข่าย  จำนวน 13 โรงเข้าร่วมกิจกรรม

             ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์  เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6   มีนักเรียนทั้งหมด   155   คน   มีบุคลากรทั้งหมด   30  คน  เป็นผู้บริหารและข้าราชการครู 15  คน  พนักงานราชการ  8  คน  วิทยากรสอนศาสนา  1  คน  ครูสอนอิสลามศึกษา 3  คนพนักงานขับรถ  1  คน  และนักการภารโรง  2  คน  โดยมีนายนรินทร์  อูเซ็ง  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์

             ปีการศึกษา 2553 ได้มีคำสั่งย้าย นายนรินทร์  อูเซ็ง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน            ศรีวารินทร์ และได้มีคำสั่งให้นายเปรม ทองนะ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน

             ปีการศึกษา 2554  มีคำสั่งย้ายให้นายเปรม  ทองนะ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสุคิรินวิทยา ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 และได้มีคำสั่งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  เขต 15 ให้ นายอับดุลอาลิม  เดวาดาแล  และนายซากัรตา  สาแม  ครูโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์  ดำรงตำแหน่ง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2554    เป็นต้นไป  โดยมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 158 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 108 คน  แบ่งเป็น ชาย 51 คน หญิง 57 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 50 คน แบ่งเป็นชาย 20 คน หญิง 30 คน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งสิ้น 28 คน เป็นข้าราชการครู 14 คน พนักงานราชการ 8 คน ลูกจ้างประจำ 4 คน นักการภารโรง 2 คน และ พนักงานขับรถยนต์ 1 คน ในปีการศึกษานี้โรงเรียนได้รับชื่อเสียงจากการประกวดขับร้องอนาซีดอย่างมากมาย รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ ได้รับถ้วยพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ การประกวดขับร้องอนาซีด  “โครงการร้อยสัมพันธ์ฉันพี่น้องชายแดนใต้ เยาวชนใต้รวมพลังใจถวายความภักดี”

             ปีการศึกษา 2555 มีคำสั่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 ที่ 207/2555 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2555 ให้นางสาวจิตรา  มาบู รองผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้า มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2555

             ปีการศึกษา 2556 นางสาวจิตรา  มาบู ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเคาะประตูบ้านและแนะแนวสัญจรทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น จาก 151 คน เป็น 192 แบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 130 คน (ชาย 55 คน หญิง 75 คน) และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 62 คน (ชาย 26 คน หญิง 36 คน) ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2556

          ปีการศึกษา 2557 ภายใต้การบริหารงานของ นางสาวจิตรา  มาบู ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ จากการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในปีการศึกษาที่ผ่านมาและยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงเรียนเป็นที่รู้จักของผู้ปกครองมากขึ้น และตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์       ทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2555 :151 คน / 2556 : 192 คน / 2557 : 249 คน) ส่งผลให้โรงเรียนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ กิจกรรม “เชิดชูเกียรติผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก”ประจำปี 2557 โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ เป็นโรงเรียนที่มีการบริหารงานอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ สมควรได้รับการยกย่องและเงินสนับสนุนกิจการของโรงเรียน ประจำปี 2557 และ นางสาวจิตรา  มาบู ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ กิจกรรม “เชิดชูเกียรติผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก” ประจำปี 2557 จากมูลนิธิผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ม.บ.ม.ท.)

          ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท เพื่อมอบให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จาก นายไพรัช  แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ได้รับความอนุเคราะห์เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน จากผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 5 เครื่อง ได้รับบริจาครถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ศก-9230 จังหวัดกรุงเทพมหานคร สีน้ำตาล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 จำนวน 1 คัน  มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 299 คน (ข้อมูล 10 มิถุนายน 2558) โดยมีนางสาวจิตรา  มาบู  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน

          ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 135,000 บาท เพื่อมอบให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จาก นายไพรัช  แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 และโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมสัมพันธ์ชุมชนดีเด่น (BEST PRATICE) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2559

 

วิสัยทัศน์

          โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  มุ่งพัฒนาผู้เรียน ให้มีคุณธรรมนำความรู้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณภาพตามมาตรฐาน


คำขวัญ

" มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม กิจกรรมเยี่ยม "


พันธกิจ

1. ส่งเสริมให้มีการบริหารการศึกษาแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นการกระจายอำนาจ การสร้างเครือข่าย และการนำเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีคุณธรรม และจริยธรรมที่พึงประสงค์
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีทักษะการกีฬา และมุ่งพัฒนาสู่สากล
5. จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
6. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูได้รับการพัฒนา
8. ให้ความรู้ ดูแล ป้องกัน แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด "


เป้าประสงค์

1. โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์มีความเข้มแข็งในการบริหารและจัดการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจการมีส่วนร่วม และการสร้างระบบเครือข่ายทุกองค์กร
2. นักเรียนมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. นักเรียนได้รับการฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ
4. นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
5. ครูทุกคนสามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรได้หลากหลายและตรงตามเนื้อหาวิชา
6. ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
7. นักเรียนมีทักษะการกีฬา สามารถพัฒนาสู่สากล
8. นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงอันตรายของยาเสพติด และไม่ยุ่งเกี่ยวกับ ยาเสพติด "


อักษรย่อ

" ร.อ. "


เมษายน 2567
       
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30